Teacher

ข่าวสาร/กิจกรรม

ผลสำรวจสาเหตุเด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์และแนวทางแก้ไข

รศ.ดร.สมวงษ์ แปลงประสพโชค
ดร.สมเดช บุญประจักษ์
ดร. จรรยา ภูอุดม

จากการประเมินผลการศึกษาระดับชาติพบว่าเด็กไทยมีผลการเรียนคณิตศาสตร์ต่ำทุกปี คณะผู้วิจัย จึงได้ศึกษาสำรวจ
ความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุที่เด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์ และแนวทางแก้ไขปัญหาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ โดยเก็บข้อมูลดังนี้

  1. จัดสัมมนาครู อาจารย์หัวหน้าหมวดคณิตศาสตร์ นักการศึกษาคณิตศาสตร์จำนวน 118 คน ในหัวข้อ เรื่อง "ทำอย่างไรให้เด็กไทยเก่งคณิตศาสตร์"
  2. สัมภาษณ์อาจารย์ นักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญจาก 6 มหาวิทยาลัย จำนวน 12 คน
  3. สำรวจความเห็นของครูผู้สอนคณิตศาสตร์จำนวน 474 คน และนักเรียน 971 คน จากโรงเรียนนำร่องการใช้หลักสูตรใหม่ 169 โรงเรียน โดยใช้แบบสอบถามประเมินค่า 5 ระดับ
  4. สำรวจความเห็นของนักเรียนที่เข้าสอบแข่งขันชิงแชมป์การคิดและแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ครั้งที่ 6 / 2546 จำนวน
    1,811 คน เกี่ยวกับแนวทางที่จะทำให้เด็กเก่งคณิตศาสตร์โดยใช้แบบสอบถามประเมินค่า 5 ระดับ

ผลสำรวจสาเหตุเด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์

ครูผู้สอนคณิตศาสตร์ 474 คน และนักเรียน 971 คน จากโรงเรียนนำร่องการใช้หลักสูตรใหม่169 โรงเรียน มีความเห็นว่าสาเหตุที่เด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์เนื่องมาจากองค์ประกอบดังนี้

  1. ด้านนักเรียน ครูมีความเห็นว่าสาเหตุที่เด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์ เกิดจากนักเรียนไม่ชอบคิด ไม่ชอบแก้ปัญหา ขาดการฝึกฝนและทบทวนด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ แต่นักเรียนมีความเห็นในสาเหตุดังกล่าวอยู่ในระดับปานกลาง
  2. ด้านผู้ปกครอง ครูมีความเห็นในระดับมากว่าผู้ปกครองมีการศึกษาน้อยเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์ แต่นักเรียนมีความคิดเห็นในข้อดังกล่าวอยู่ในระดับปานกลาง และนักเรียนทั้งสองระดับยังเห็นว่าการที่ผู้ปกครองไม่สนับสนุนหรือเอาใจใส่การเรียนของนักเรียนเป็นสาเหตุในระดับน้อย
  3. ด้านหลักสูตร ครู มีความเห็นในระดับมากว่าสาเหตุที่เด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์อันเนื่องมาจาก สื่อการสอนและเครื่องอำนวยการสอนไม่เพียงพอ แต่นักเรียนระดับมัธยมศึกษามีความเห็นในสาเหตุดังกล่าวระดับปานกลาง และนักเรียนระดับประถมศึกษามีความเห็นในสาเหตุดังกล่าวในระดับน้อย
  4. ด้านครูผู้สอน นักเรียนระดับมัธยมศึกษามีความเห็นว่า สาเหตุที่เด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์เนื่องมาจากครูได้แก่ ครูสอนไม่ดี อธิบายไม่รู้เรื่อง ครูดุ เจ้าอารมณ์ ครูไม่เข้มงวดในการทำการบ้าน ครูสอนจริงจังบรรยากาศเครียดขาดอารมณ์ขัน ครูไม่อดทนที่จะอธิบายให้เด็กเข้าใจ ครูไม่ใช้สื่อการสอนเพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจ ครูให้นักเรียนอ่านเองสรุปเองแล้วมาสอบ วิธีสอนของครูไม่น่าสนใจ ครูมีความรู้ไม่ดี ขาดความมั่นใจตนเอง ครูไม่จบสาขาวิชาคณิตศาสตร์โดยตรง ครูไม่เปิดใจกว้างให้นักเรียนตอบอย่างอิสระ ครูขาดแรงจูงใจ ครูสอนโดยไม่เน้นการคิดแก้ปัญหาและไม่เน้นการนำไปใช้ในชีวิตจริง ครูมีภาระงานที่รับผิดชอบในโรงเรียนมากไป แต่ครูมีความเห็นตรงกับเด็กเพียง 4 ประเด็นได้แก่ ครูให้ นักเรียนอ่านเองสรุปเองแล้วมาสอบ ครูมีความรู้ไม่ดี ขาดความมั่นใจตนเอง ครูไม่จบสาขาวิชาคณิตศาสตร์โดยตรง และครูไม่เปิดใจกว้างให้นักเรียนตอบอย่างอิสระ เป็นเหตุให้เด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์ และนักเรียนในระดับประถมศึกษามีความเห็นทุกข้อที่กล่าวมาในระดับปานกลาง

ครูคณิตศาสตร์ที่นักเรียนต้องการ

ผลการสำรวจความเห็นของนักเรียนในโรงเรียนนำร่องการใช้หลักสูตรใหม่มีความเห็นเกี่ยวกับครูคณิตศาสตร์ที่นักเรียนต้องการดังนี้

เกี่ยวกับคุณลักษณะของครูคณิตศาสตร์ ควรเป็นคนใจดี เข้าใจและเห็นใจนักเรียน เอาใจใส่ ห่วงใย นักเรียน ทุ่มเทให้กับการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เป็นคนมีอารมณ์ขัน เป็นคนมีเมตตาธรรม จริยธรรม อดทนที่จะอธิบายให้นักเรียนรู้เรื่อง และไม่ดุไม่ระบายอารมณ์โกรธในห้องเรียนคณิตศาสตร์

เกี่ยวกับความสามารถในการสอนของครู นักเรียนเห็นว่า ครูควรสามารถสอนคณิตศาสตร์ให้เข้าใจง่าย มีวิธีสอน
หลากหลายน่าสนใจ สอนสนุก สอนให้นักเรียนนำความรู้ไปแก้ปัญหาได้ เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วม สามารถโน้มน้าวให้เด็กสนใจเรียนคณิตศาสตร์ ใช้สื่อการสอนช่วยให้เกิดความสนใจ ทบทวนนิยาม สูตร กฎ ให้นักเรียนสม่ำเสมอ ให้คำแนะนำ
ชี้แนวทางให้นักเรียนได้คิดเอง ทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าและรักคณิตศาสตร์

เกี่ยวกับความรู้ทางคณิตศาสตร์ ครูควรมีความรู้ในเนื้อหาคณิตศาสตร์ดี สามารถใช้วิธีหลากหลายในการทำโจทย์คณิตศาสตร์ ครูควรคิดว่าคณิตศาสตร์ไม่ยากสำหรับทุกคน มีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรคณิตศาสตร์ มีความเข้าใจในธรรมชาติและพัฒนาการของนักเรียน

ทำอย่างไรให้เด็กไทยเก่งคณิตศาสตร์

นักเรียนระดับประถมศึกษาที่เข้าสอบสอบแข่งขันชิงแชมป์การคิดและแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ 1,811 คน ได้ให้ความเห็น
เกี่ยวกับแนวทางที่จะทำให้เด็กไทยเก่งคณิตศาสตร์ดังนี้

  1. คุณสมบัติของนักเรียน นักเรียนต้องสนใจเรียน เรียนด้วยความเข้าใจ เห็นคุณค่าของวิชาคณิตศาสตร์ ชอบคิดคำนวณ ชอบคิดชอบแก้ปัญหา สามารถประยุกต์ความรู้ไปใช้แก้ปัญหา ฝึกฝนและทบทวนด้วยตนเองสม่ำเสมอ มีพื้นฐานความรู้คณิตศาสตร์ดี และควรกล้าซักถามกล้าแสดงออก
  2. คุณสมบัติของผู้ปกครอง ผู้ปกครองควรสนับสนุนหรือเอาใจใส่การเรียนของนักเรียนและให้คำปรึกษา ควรมีการศึกษาอย่างน้อยมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไป และฐานะทางเศรษฐกิจไม่ขัดสน
  3. คุณสมบัติของหลักสูตร หลักสูตรที่จะทำให้เด็กเก่งคณิตศาสตร์ควรมีเนื้อหาวิชาหลากหลาย ควรมีเนื้อหายากบ้าง เวลาเรียนต้องเพิ่มมากกว่าปัจจุบัน ผู้บริหารของโรงเรียนควรสนับสนุนทุกด้าน สื่อการสอนและเครื่องอำนวยการสอนต้องมีพอเพียง จำนวนนักเรียนในแต่ละห้องควรมีจำนวนที่ไม่มากจนเกินไป
  4. คุณสมบัติของครูคณิตศาสตร์ ครูคณิตศาสตร์ต้องสอนดี อธิบายรู้เรื่อง อดทนที่จะอธิบายให้เด็กเข้าใจ ใช้สื่อการสอนเพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจ วิธีสอนของครูควรน่าสนใจ มีความรู้ดี มีความมั่นใจในตนเอง สอนโดยเน้นการคิดแก้ปัญหาและเน้นการนำไปใช้ ให้โอกาสนักเรียนตอบอย่างอิสระ มีแรงจูงใจในการทำงาน มีภาระงานพอดีเพื่อมีเวลาให้เด็ก ฝึกให้
    นักเรียนอ่านเองและสรุปเองบ้าง เข้มงวดในการทำการบ้านและตรวจสม่ำเสมอ สอนจริงจังแต่ไม่ดุไม่เจ้าอารมณ์ จบสาขาคณิตศาสตร์โดยตรง

ปัญหาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และแนวทางแก้ไข

จากการสัมมนาครู อาจารย์หัวหน้าหมวดคณิตศาสตร์ นักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนคณิตศาสตร์จำนวน 118 คน ในหัวข้อ เรื่อง “ ทำอย่างไรให้เด็กไทยเก่งคณิตศาสตร์” และการสัมภาษณ์อาจารย์ นักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญจาก 6 มหาวิทยาลัย จำนวน 12 คน ได้ข้อเสนอแนวทางการจัดการเรียนการสอนและการแก้ปัญหาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ดังนี้

เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน ควรให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ครูแนะนำและสาธิตแล้วให้นักเรียนปฏิบัติ ให้นักเรียนแสดงความคิดเองอย่างมีเหตุผล ให้นักเรียนฝึกคิดวิเคราะห์ ครูผู้สอนต้องอธิบายให้เข้าใจก่อนแล้วจึงให้จำ ครูอย่าด่วนสรุปเพราะจะทำให้นักเรียนไม่คิด มีการใช้สื่อบ้าง ใช้สภาพที่อยู่ในชีวิตจริงของนักเรียนมาใช้เป็นบริบทในการเรียน ให้ใช้สิ่งตีพิมพ์หรือสื่อโฆษณาเป็นแหล่งความรู้ในชุมชน ใช้ของจริงและของจำลองเป็นสื่อการสอน ให้นักเรียนรู้จักคิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง ควรมีวิธีการสอนที่หลากหลาย ใช้วิธีการสอนแบบร่วมมือบ้างเพื่อให้นักเรียนรู้จักการทำงานร่วมกับเพื่อน ควรใช้การสอนแบบถามตอบและร่วมกันแสดงความคิดเห็นบ้าง บางครั้งอาจสอนโดยแบ่งเป็นฐานโดยกำหนดให้ทำงานกลุ่มหมุนเวียน นักเรียนจะได้รู้จักการแบ่งงานและช่วยเหลือกัน เนื้อหาบางเนื้อหาที่น่าเบื่อ ควรนำ เกม เพลงมาช่วยบางโอกาส

แนวทางแก้ปัญหาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์

  1. ปัญหาสื่อการสอน สื่อการสอนเป็นสื่อที่มีขนาดเล็ก ทำให้นักเรียนไม่ได้มีส่วนร่วม บางครั้งผู้บริหารเป็นผู้กำหนดการซื้อสื่อทำให้ได้สื่อที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่อิสระในการซื้อสื่อ ขาดงบประมาณในการซื้อสื่อ ครูไม่สามารถสร้างสื่อให้ตรงกับเนื้อหาบางเรื่องได้ ครูขาดความรู้ในการผลิตสื่อ สื่อมีน้อยไม่หลากหลาย มีแต่เอกสาร สื่อไม่ได้มาตรฐาน สื่อสำเร็จรูปที่จัดซื้อบางชิ้นไม่ตรงกับเนื้อหาที่ใช้สอน ขั้นตอนในการซื้อสื่อยุ่งยากไม่สะดวก สื่อไม่น่าสนใจ สื่อไม่ตรงกับเนื้อหา ครูไม่มีเวลาผลิตสื่อ

    แนวทางแก้ไข เนื้อหาบางเรื่องสามารถใช้สื่อของจริงสอน อาจให้ปฏิบัติกิจกรรมกลุ่มระดมสมอง ให้นักเรียนสร้างสื่อเอง ใช้การตั้งคำถาม ใช้สื่อรอบตัวในห้อง จัดสถานการณ์บทบาทสมมติ ผลิตสื่อเอง หรือนำสื่อเก่ามาปรับปรุงให้ดีขึ้น ปรับปรุงวิธีการซื้อและแหล่งที่ซื้อสื่อ

  2. ปัญหาเกี่ยวกับครู ครูตรวจงานนักเรียนไม่ทัน เวลาสอนน้อยเนื้อหามากสอนไม่ทัน ชั่วโมงสอนอยู่ในภาคบ่ายทำให้นักเรียนไม่สนใจ การพัฒนาผู้สอนทำได้ไม่ทั่วถึง ไม่มีเวลาผลิตสื่อการสอน การตามงานผู้สอนบกพร่อง ครูเตรียมการสอนไม่ดีพอ มีผู้สอนหลายคนในวิชาเดียวกันสอนไม่สอดคล้องกัน สอนนักเรียนแตกต่างกันมากทำให้สอนยาก ครูจบไม่ตรงสาขาวิชาเอก ครูไม่เข้าใจในเนื้อหา ขาดความมั่นใจในการสอน ครูไม่ชอบค้นคว้าหาความรู้ใหม่เพิ่มเติม ครูขาดความกระตือรือร้น ครูไม่มีจิตสำนึกในความเป็นครู ครูขาดแรงเสริมไม่มีกำลังใจทำงาน ครูขาดเทคนิคในการถ่ายทอด ครูขาดจรรยาบรรณ ครูสอนเร็วเกินไป ครูสอนแบบตึงเครียด ครูมีอารมณ์ไม่คงที่ ครูคณิตศาสตร์ดุ ครูใช้วิธีการวัดผลไม่ตรงกับเนื้อหาหรือกิจกรรมที่สอน ครูไม่เอาใจใส่เด็กเท่าที่ควร ครูชอบลาหยุด ครูออกข้อสอบในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่สอนและข้อสอบยาก ครูขาดการนิเทศระหว่างกันและกัน ครูต้องใช้เวลาเตรียมเนื้อหามากเพราะสอนหลายวิชา

    แนวทางแก้ไข ครูต้องมีจิตวิทยาในการสอน ฝึกให้นักเรียนคิดเป็น ฝึกทักษะกระบวนการ และฝึกให้อดทนในการแก้ปัญหาโดยไม่รู้ตัว ชี้ให้เห็นความสำคัญของคณิตศาสตร์ ว่านำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร ครูควรมีความอดทนในการแก้ปัญหาในการเรียนการสอน ควรมีการพัฒนาครูในหลาย ๆ ด้าน จัดอบรมบ่อย ๆ ในเรื่องเนื้อหา วิธีการสอน และการผลิตสื่อใช้เอง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ตัวครูต้องแม่นในเนื้อหาและมีวิธีการสอนที่หลากหลาย แล้วจะสามารถคิดสื่อการสอนที่เหมาะสมได้เอง พร้อมทั้งยังสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

  3. ปัญหาเกี่ยวกับนักเรียน นักเรียนห่วงเล่น เกียจคร้าน เวลาเรียนน้อย ไม่ชอบคิด ชอบก่อกวนในห้อง ชอบลอกงานมาส่ง นักเรียนสับสน สมาธิสั้น ไม่ชอบเรียน ปัญหาสภาพจิตใจและมาจากสภาพครอบครัวไม่ค่อยดี ผู้ปกครองไม่เอาใจใส่ นักเรียนไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ ไม่มีพื้นฐานการคิดคำนวณ ภาระงานทางบ้านเยอะ การเปิดโอกาสให้สอบซ่อมในวิชาที่สอบตกได้หลายครั้งหรือตลอดเวลาที่นักเรียนพร้มทำให้นักเรียนไม่กระตือรือร้น ครูไม่สามารถลงโทษนักเรียนที่ขาดคุณธรรมได้ นักเรียนขาดอุปกรณ์ในการเรียน ไม่มีสมาธิในการเรียนเนื่องจากจัดเวลาเรียนใช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม

    แนวทางแก้ไข ครูควรสร้างความเข้าใจ จัดกิจกรรมหลากหลายให้น่าสนใจ ให้กำลังใจ สร้างแรงจูงใจ แบ่งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน สร้างเจตคติที่ดีให้แก่เด็ก โดยการนำเข้าสู่บทเรียนด้วยสิ่งที่น่าสนใจ ให้นักเรียนเห็นประโยชน์ของคณิตศาสตร์ ค้นหาวิธีการสอนหรือกระบวนการสอนที่เป็นขั้นตอนชัดเจน ให้ความรักความเข้าใจแก่นักเรียนเสมอกันทุก ๆ คน

  4. ปัญหาความถนัด และสติปัญญาของนักเรียนต่างกัน บางคนสมาธิสั้น ถ้าครูใช้วิธีสอนแบบเดียวจะไม่ประสบผลสำเร็จ หลักสูตรอาจไม่สอดคล้องในทางปฏิบัติ ครูบางคนอาจได้รับภาระงานที่นอกเหนือจากการสอนมากไปไม่มีเวลาเอาใจใส่เด็กอย่างทั่วถึง อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จในการสอนคณิตศาสตร์คือนักเรียนไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์

    แนวทางแก้ไข ครูควรทำวิจัยในชั้นเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลเพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นก่อนที่จะสะสมมากขึ้น

  5. ปัญหานักเรียนมีพื้นฐานคณิตศาสตร์บกพร่อง สาเหตุจากครูผู้สอนไม่แม่นในเนื้อหา จบไม่ตรงสาขาวิชาเอก เทคนิคการสอนไม่ดี หรือแม้กระทั่งคนที่จบตรงสาขาเองบางคนก็มีความรู้ดีแต่เทคนิคการสอนไม่ดี ทำให้เด็กที่ได้รับความรู้ไปอย่างบกพร่อง ทำให้ขาดความรู้ หรือรู้ผิดๆ สะสมมาเรื่อยจนทำให้ผลสัมฤทธิ์ต่ำ สื่อการสอนที่ใช้ยังไม่ชัดเจนพอทำให้ครูใช้สื่อบางอย่างแบบไม่รู้จริง

    แนวทางแก้ไข ฝึกให้ครูมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอน โดยจัดอบรมครูให้ทั่วถึงและสม่ำเสมอ ทำชุดการเรียนการสอนเพิ่มเติม อาจจะเป็นในลักษณะบทเรียนสำหรับเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือบทเรียนเสริมสำหรับเนื้อหาที่นักเรียนยังไม่เข้าใจหรือทำทุกเนื้อหาเตรียมไว้เพราะนักเรียนมีความแตกต่างกัน ซึ่งเป็นการฝึกอยู่เสมอ และชุดการสอนควรมีทั้งความยากง่ายหลายระดับ มีโจทย์ที่หลากหลาย ครูควรความรู้ดี มีเทคนิคการถ่ายทอดดีจะสามารถทำให้เด็กสนใจและรักในวิชา ครูควรทำให้เด็กมีความเชื่อมั่นและรักในตัวครูแล้วเด็กจะรักในวิชาที่เรียน ครูควรวิเคราะห์และใช้สื่อารสอนห้เหมาะสมกับเนื้อหาและสอดคล้องกับกลุ่มนักเรียนที่มีความแตกต่างกัน

  6. ปัญหานักเรียนไม่สามารถประยุกต์ความรู้ไปใช้กับชีวิตจริงได้ เกิดจากการเรียนแต่ทฤษฎีอย่างเดียว ไม่นำประสบการณ์ในชีวิตจริงมาใช้ ไม่นำสิ่งที่เรียนมาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

    แนวทางแก้ไข ครูต้องหาวิธีการให้เด็กนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง เช่นการให้นักเรียนทำโครงงานที่เป็นเรื่องของการบูรณาการคณิตศาสตร์มาใช้กับชีวิตจริง ในการจัดการเรียนการสอนควรมีโจทย์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงให้ทำบ้าง หรืออาจระบุเรื่องให้นักเรียนแล้วให้ไปคิดว่าจะนำไปใช้กับชีวิตจริงได้อย่างไร ให้นักเรียนลองหาตัวอย่าง สถานการณ์จำลองมาแก้ปัญหา หรือให้นักเรียนได้พบปัญหาจริง ๆ ก็ได้ แล้วคิดว่าจะนำคณิตศาสตร์ไปแก้ปัญหาได้อย่างไร

  7. ปัญหานักเรียนไม่ชอบคิดและแก้ปัญหา เกิดจากเด็กไทยถูกปลูกฝังไม่ค่อยให้คิด ไม่กล้าแสดงความคิด กลัวผิด ครูสอนแบบบอกอย่างเดียว ทำให้เด็กฟังอย่างเดียวแล้วลอกตามไม่อยากคิด นอกจากนี้ครูมักสอนแบบถามตอบโดยให้พูดเติมคำตอบพร้อมกันทั้งชั้นทำให้เด็กไม่ได้กระบวนการคิด นอกจากนี้การวัดผลโดยใช้ข้อสอบปรนัยเป็นการเอื้อให้เด็กเดาไม่ได้คิด ทุกสาเหตุสะสมกันทำให้เด็กไม่ชอบคิดแก้ปัญหา

    แนวทางแก้ไข จะต้องมีกิจกรรมที่หลากหลาย เร้าความสนใจทำให้เด็กอยากคิด เช่นฝึกให้คิดสองคน หรือ คิดเป็นกลุ่ม เน้นให้คิดเป็นกระบวนการ แล้วจึงให้คิดเดี่ยว หาโจทย์ที่หลากหลายหรือให้นักเรียนสร้างโจทย์เอง เพื่อก่อให้เกิดกระบวนการคิดโดยกิจกรรมที่จะใช้แล้วแต่เนื้อหาที่สอน

  8. ปัญหานักเรียนขาดการฝึกฝนและทบทวนด้วยตนเอง มักลอกการบ้านเกิดจากขาดการการปลูกฝัง ความรับผิดชอบ ความประพฤติ คุณธรรมและจริยธรรม เพราะถ้าเด็กขาดในส่วนนี้ ก็หมายถึงการขาดความรับผิดชอบ

    แนวทางแก้ไข ครูตรวจการบ้าน แก้ปัญหาไปทีละรายอย่าปล่อยปละละเลย ผู้ปกครองควรเอาใจใส่ดูแลอย่างทั่วถึง เช่น ดูว่าวันนี้มีการบ้านอะไร ช่วยคุมให้ทำการบ้าน ปลูกฝังให้รับผิดชอบตั้งแต่เด็ก มีความซื่อสัตย์ มีความขยัน ใช้แรงจูงใจภายในว่าอนาคตของเราขึ้นอยู่กับเราเอง ทำให้เด็กเกิดแรงจูงใจไฝ่สัมฤทธิ์ ครูต้องไม่เน้นคะแนนเป็นสำคัญ เพราะเด็กจะไม่คิด พึ่งแต่เด็กเก่ง ให้เด็กลองคิดเองแล้วให้คะแนนใกล้เคียงกัน ฝึกทักษะการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เด็กจะเกิดความมั่นใจสูงขึ้น

  9. ปัญหานักเรียนไม่ชอบการคิดคำนวณ เกิดจากเด็กไม่ชอบคณิตศาสตร์ ครูผู้สอนไม่สอนให้เห็นเป็นรูปธรรม สอนยากทำให้เด็กฝังใจว่าคณิตศาสตร์ยาก น่าเบื่อ ทำซ้ำซาก ทำให้ไม่อยากคิด

    แนวทางแก้ไข ต้องทำให้คณิตศาสตร์เป็นเรื่องสนุกโดยอาจใช้เกม เพลง นำเทคโนโลยีมาช่วยสอน เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน บทเรียนการ์ตูน ใช้เครื่องคิดเลขบ้างในบางเรื่องที่มีตัวเลขมาก แต่ต้องเน้นให้เด็กมีทักษะการคิดก่อน สร้างกิจกรรมที่เร้าใจ นำเหตุการณ์ในปัจจุบันมาผูกเป็นเรื่องให้คิด ดูว่าเด็กสนใจเรื่องใดก็นำมาเชื่อมโยง มีวิธีการเร้าใจ ทำกิจกรรมให้น่าสนใจ สร้างสิ่งแวดล้อมให้กระตุ้นความสนใจของเด็ก จัดให้มีการแข่งขันบ้าง มีรางวัลบ้าง กิจกรรมจะเป็นแบบใดขึ้นอยู่กับเนื้อหา และกลุ่มนักเรียน กิจกรรมหนึ่งไม่สามารถใช้ได้กับทุกเรื่อง

บทสรุป

ผลสำรวจ ความคิดเห็นของครูและนักเรียนโรงเรียนนำร่องการใช้หลักสูตรใหม่เกี่ยวกับสาเหตุเด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์พบว่ามีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับคุณลักษณะของนักเรียน และคุณลักษณะของครู โดยครูโทษนักเรียนว่าสาเหตุที่เด็กอ่อนคณิตศาสตร์เพราะนักเรียนไม่ชอบคิด ไม่ชอบแก้ปัญหา ขาดการฝึกฝนและทบทวนด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ ส่วนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาก็โทษครูว่า เพราะครูสอนไม่ดี อธิบายไม่รู้เรื่อง ครูดุ เจ้าอารมณ์ ครูไม่เข้มงวดในการทำการบ้าน ครูสอนจริงจังบรรยากาศเครียดขาดอารมณ์ขัน ครูไม่อดทนที่จะอธิบายให้เด็กเข้าใจ ครูไม่ใช้สื่อการสอนเพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจ ครูให้นักเรียนอ่านเองสรุปเองแล้วมาสอบ วิธีสอนของครูไม่น่าสนใจ ครูมีความรู้ไม่ดี ขาดความมั่นใจตนเอง ครูไม่จบสาขาวิชาคณิตศาสตร์โดยตรง ครูไม่เปิดใจกว้างให้นักเรียนตอบอย่างอิสระ ครูขาดแรงจูงใจ ครูสอนโดยไม่เน้นการคิดแก้ปัญหาและไม่เน้นการนำไปใช้ในชีวิตจริง ครูมีภาระงานที่รับผิดชอบในโรงเรียนมากไป

นอกจากนี้ครูที่เข้าร่วมสัมมนายังได้กล่าวถึงปัญหาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ หลายประเด็น เช่น ปัญหาสื่อการสอน ปัญหานักเรียนไม่ชอบการคิดคำนวณ ปัญหานักเรียนขาดการฝึกฝนและทบทวนด้วยตนเอง ปัญหานักเรียนไม่ชอบคิดและแก้ปัญหา ปัญหานักเรียนไม่สามารถประยุกต์ความรู้ไปใช้กับชีวิตจริง ปัญหานักเรียนมีพื้นฐานคณิตศาสตร์บกพร่อง ปัญหาความถนัด และสติปัญญาของนักเรียนต่างกัน ปัญหาสื่อการสอน และปัญหาเกี่ยวกับครู

ข้อคิดเห็น ทั้งหมดที่กล่าวมาควรได้รับการร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่นหน่วยงานที่จัดทำหลักสูตรได้แก่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรออกแบบ พัฒนาสื่อการสอนสำเร็จรูปให้หลากหลายสะดวกใช้ ซื้อง่าย หน่วยงานที่ผลิตครูคณิตศาสตร์เช่นมหาวิทยาลัย ต้องช่วยกันคิดค้นและวิจัยหายุทธวิธีการจัดการเรียนการสอนที่จะทำให้เด็กสามารถคิด แก้ปัญหา นำความรู้คณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ และหายุทธวิธีจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ให้น่าสนใจ นำผลวิจัยมาเพิ่มพูนความรู้ทั้งในเนื้อหาและวิธีสอนเพื่อให้แก่ครูนำไปพัฒนาเด็กให้ได้ผล หน่วยงานที่ใช้ครูเช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดสรรหางบประมาณ ติดตามผล สำรวจปัญหา ประเมิน พัฒนาครูเพื่อไปพัฒนาเด็ก หน่วยงานสนับสนุนเช่นสมาคม เป็นเวทีจัดกิจกรรมประชุมสัมมนา เสนอผลงาน ประกวดงาน ให้รางวัล โดยทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน

อ้างอิง

สมวงษ์ แปลงประสพโชค สมเดช บุญประจักษ์ และ จรรยา ภูอุดม.(2549).
นวตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐานของเด็กไทย : การศึกษาสาเหตุเด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์และแนวทางแก้ไข.มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร.